อนุมูลอิสระกำลังถูกพูดถึงในเชิงของสุขภาพและความงามในวงกว้าง แต่หากจะพูดถึงอนุมูลอิสระก็จำเป็นที่จะต้องมีการพูดถึงในเชิงเคมีที่อาจจะมีความลึกซึ้งแต่จะทำให้เห็นถึงความสำคัญและมองเห็นวิธีการป้องกันที่ชัดเจนขึ้นอย่างแน่นอน
ก่อนที่จะพูดถึงอนุมูลอิสระ ก็ต้องย้อนกลับไปพูดถึงตั้งแต่คำที่ทุกคนคุ้นหูกันดีอยู่แล้วก็คือคำว่า ‘โมเลกุล’ โมเลกุลของสารเกิดจาก ‘อะตอม’ ของธาตุต่าง ๆ ประกอบรวมตัวกัน และในอะตอมนี้เองก็จะมี ‘อิเล็กตรอน’ อยู่ ซึ่งโดยปกติแล้วอิเล็กตรอนจะต้องจับคู่กันอย่างลงตัว อะตอมนั้นจึงอยู่ในภาวะสเถียร แต่เมื่อใดที่อิเล็กตรอนเกิดไม่มีคู่ขึ้นมา หรือเรียกว่า ‘อิเล็กตรอนอิสระ’ จึงทำให้เกิดเป็นอนุมูลอิสระ อนุมูลอิสระเหล่านี้จะทำปฏิกิริยาอย่างว่องไวมากเพื่อทำให้ตัวเองสเถียร โดยการแย่งอิเล็กตรอนจากโมเลกุลอื่น ๆ และเอาอิเล็กตรอนอิสระของตัวเองไปให้โมเลกุลอื่น ส่งผลให้โมเลกุลที่ถูกทำปฏิกิริยาด้วยกลายเป็นอนุมูลอิสระต่อไปและวนซ้ำเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ ปัญหาจะยิ่งใหญ่โตขึ้นเมื่ออนุมูลอิสระนี้เข้าทำปฏิกิริยากับองค์ประกอบที่มีความสำคัญระดับเซลล์ เช่น DNA, โปรตีน, คาร์โบไฮเดรต, เยื่อหุ้มเซลล์ เมื่อนั้นจะทำให้เซลล์ไม่สามารถทำงานได้เป็นปกติหรือนำไปสู่กระบวนการตายของเซลล์
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระแบ่งออกง่าย ๆ เป็น 2 ปัจจัย คือปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายในล้วนเกิดจากกระบวนเผาผลาญระดับเซลล์ (cellular metabolism) ที่เกิดตลอดเวลาเป็นปกติแม้ในขณะนี้ แต่โชคยังดีที่ร่างกายเองก็มีวิธีการรับมืออยู่แล้ว แต่ก็ไม่ใช่เสมอไปและตลอดไป กระบวนการต้านอนุมูลอิสระของร่างก็มีขีดจำกัด เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระจะลดลง หรือหากอัตราการเกิดอนุมูลอิสระมากกว่าอัตราการกำจัดอนุมูลอิสระ จนเกิดภาวะ oxidative stress จะทำให้อนุมูลอิสระสะสมมากขึ้นและยิ่งส่งผลร้ายต่อเซลล์และร่างกาย
ผิวของเราเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายที่ต้องเผชิญกับสิ่งแวดล้อมภายนอกมากที่สุด ดังนั้นปัจจัยภายนอกจึงมีความสำคัญที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้น ปัจจัยภายนอกได้แก่
1. แสงแดด
ถึงแม้ในบางมุมแสงแดดจะมีประโยชน์ต่อสุขภาพ แต่ก็มีผลเสียด้วย เนื่องจากรังสี UV จากแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ ทำให้ผิวเกิดภาวะ photoaging (ผิวแก่ก่อนวัยเนื่องจากแสงแดด) และภาวะ hyperpigmentation คือภาวะที่ผิวสร้างเม็ดสีมากเกินในบริเวณนั้น
2. มลภาวะจากสิ่งแวดล้อม
มลภาวะในที่นี้รวมตั้งแต่ ฝุ่น ควัน หรือเม้กระทั่งสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สารทำความสะอาดครัวเรือน ยาฆ่าแมลง ปัจจุบันร่างกายมีโอกาสที่จะต้องเผชิญหน้ากับมลภาวะมากขึ้น และมลภาวะเหล่าก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระ
3. การสูบบุหรี่
ในควันบุหรี่ประกอบไปด้วยสารพิษและอนุมูลอิสระจำนวนมาก เมื่อถูกสูดเข้าร่างกายจะก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพมากมายรวมถึงผิวแก่ก่อนวัย
4. การรับประทานอาหาร
อาหารก็ยังถูกนับเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระซึ่งมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตใด ๆ ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับประทานอาหารได้ แต่หากควบคุมอย่างถูกต้องก็สามารถช่วยลดปริมาณอนุมูลอิสระที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เยอะจนเกินไป เลือกทานอาหารให้มีสารอาหารเพียงพอ
ผลกระทบของอนุมูลอิสระต่อผิว
อนุมูลอิสระส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผิวในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะต่อสารเคลือบเซลล์ (extracellular matrix; ECM) ส่วนประกอบหลักของ ECM คือ เส้นใยคอลลาเจน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนชนิดหนึ่งมีที่มาจากโปรตีนคอลลาเจนจับตัวกับคาร์โบไฮเดรต มีหน้าที่สำคัญในการให้ความแข็งแรงและความมั่นคงทางโครงสร้างของเนื้อเยื่อ หาก ECM ได้รับความเสียหายส่งผลให้ผิวหย่อนคล้อย เกิดริ้วรอยอย่างเห็นได้ชัด รูขุมขนกว้างขึ้น เกิดอาการ epidermal atrophy หรือ dermal atrophy
วิธีลดอนุมูลอิสระและป้องกันผลกระทบต่อผิว
- ใช้ผลิตภัณฑ์ปกป้องผิว
ในชีวิตประจำวันเราคงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระได้ทั้งหมด จึงต้องอาศัยผลิตภัณฑ์ที่สามารถปกป้องผิวและลดอนุมูลอิสระได้ จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่สีส่วนประกอบของสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) โดยสารต้านอนุมูลอิสระจะเข้าแทรกแซงเพื่อหยุดปฏิกิริยาลูกโซ่ของปฏิกิริยาออกซิเดชัน (oxidation) ที่เกิดจากอนุมูลอิสระ - ปรับ Lifestyle
ลดการเผชิญกับแสงแดดโดยตรง สวมใส่อุปกรณ์ที่ช่วยปกป้องร่างกายจากมลภาวะ เช่น หน้ากากอนามัย ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลือกทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักใบเขียว พืชตระกูลส้ม ถั่ว ปลา เป็นต้น
อนุมูลอิสระเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระของร่างกายก็ยิ่งต่ำลง การดูแลและปกป้องผิวแต่แรกเริ่มจะยิ่งช่วยให้ผิวมีสุขภาพดี แข็งแรง ไม่แก่ก่อนวัยหรือดูเด็กกว่าวัย
อ้างอิง:
- Poljšak, Borut, and Raja Dahmane. “Free Radicals and Extrinsic Skin Aging.” Dermatology Research and Practice, vol. 2012, 2012, pp. 1–4. DOI.org (Crossref), doi:10.1155/2012/135206.
- https://www.dermcoll.edu.au
- https://practicaldermatology.com
- https://www.khanacademy.org
- https://www.curel.com